วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จบ ม.6 ทำปศุสัตว์อินทรีย์มีเก็บปีละแสนห้า อยู่ได้สบาย อย่างมีความสุขใจ

จบ ม.6 ทำปศุสัตว์อินทรีย์มีเก็บปีละแสนห้า

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2556 เวลา 00:00 น.


นางกัญจนา ตัวสะเกตุ เกษตรกรบ้านนาเจียง ตำบลโคกงาม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ระดับประเทศ ประจำปี 2556 อายุ 44 ปี จบการศึกษา ม.6 ได้เปิดเผยกับคณะผู้สื่อข่าวในโครงการสื่ออาสาสืบสานพระราชดำริ ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  (สำนักงาน กปร.) เมื่อช่วงต้นเดือน พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาว่า เดิมตนและครอบครัวทำการเกษตรเช่นเดียวกับเกษตรกรรายอื่น ๆ ทั่วไป แต่ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่หวังเอาไว้เพราะรายจ่ายมาก กว่ารายรับ
ต่อมาได้มีโอกาสเข้าไปดูงานและเรียนรู้การทำการเกษตรแบบอินทรีย์โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์จากศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย จากนั้นก็นำความรู้มาทำที่บ้านโดยทางศูนย์ฯ ได้สนับสนุนพันธุ์สัตว์ให้มาเลี้ยง มี ไก่ไข่ ไก่ชี ไก่ไข่เพศผู้ ไก่งวง และหมูเหมยซาน โดยเลี้ยงแบบผสมผสานในแปลงเพาะปลูกพืชและเลี้ยงห่านไว้ทำหน้าที่เป็นยามดูแลสัตว์ร้ายที่จะเข้ามาทำร้ายสัตว์เลี้ยง
“เมื่อก่อนปลูกแก้วมังกรประมาณ 300 ต้น ก็ต้องซื้อปุ๋ยขี้ไก่มาใส่เพื่อบำรุงต้นปัจจุบัน ไม่ต้องซื้อเพราะเลี้ยงไก่แล้วเอามูลไก่มาใช้ รอบบ้านปลูกกล้วยน้ำว้าเพื่อกินลูกและเอาลูกไปขาย ส่วนหยวกกล้วยจะนำมาหั่นผสมกับรำเป็นอาหารสัตว์ ” เกษตรกรดีเด่นปี 56 กล่าว
นางกัญจนา เปิดเผยถึงขั้นตอนการเลี้ยงสัตว์แบบอินทรีย์ว่า จะขยายพันธ์ุสัตว์เองโดยนำลูกสัตว์ที่มีอายุประมาณ 1 เดือนมาเลี้ยงแบบอินทรีย์ เป็นการเลี้ยงแบบควบคู่ระหว่างขังในคอกเลี้ยงและปล่อยอิสระให้หากินในแปลงเพาะปลูก จึงไม่ต้องตัดหญ้าในแปลงปลูกพืชเพราะสัตว์จะคอยกัดกินหญ้า เป็นการประหยัดแรงงานและลดต้นทุนในการตัดแต่งสวนได้เป็นอย่างดี แมลงศัตรูพืชก็ลดลงเพราะสัตว์จะคอยจิกกินไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหาซื้อสารเคมีมากำจัดแมลงศัตรูพืช
รายได้หลักของครอบครัวจะมาจากการเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชผสมผสานกัน ส่วนที่ได้เยอะหน่อยก็จากการขายลูกหมูเหมยซาน ซึ่งผู้ซื้อจะซื้อไปเลี้ยงต่อเพื่อขายเป็นหมูรุ่น มีลูกค้าจากหลาย ๆ ที่เข้ามาซื้อเป็นประจำ จากการมีรายได้ตรงนี้จึงทำให้เกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจและเข้ามาร่วมทำปศุสัตว์อินทรีย์กันมากขึ้น จึงเกิดการรวมกลุ่ม โดยรวมกันผลิต มีการแลกเปลี่ยนผลผลิตกัน จากนั้นก็รวมกันขาย โดยจะมีการจัดทำบัญชีการผลิตของสมาชิกกลุ่มว่าผู้ใดมีไก่รุ่น มีลูกหมู จำนวนเท่าไหร่ที่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ ก็จะนำมาขึ้นบัญชีไว้ เมื่อมีผู้มาสั่งซื้อก็จะนำมาขายให้ทันที
“ก็ดำเนินชีวิตทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงคือเมื่อมีและเหลือกินก็ขาย อย่างลูกหมูอายุแรกเกิด 1 เดือนจะขายตัวละ 1,000 บาท ไก่เนื้อ ขายกิโลละ 100 บาท ไก่ทำสำเร็จเป็นซากไก่ขายกิโลละ 180 บาท รวมเครื่องในด้วย ส่วนใหญ่จะมีผู้ซื้อโทรฯ มาสั่งล่วงหน้าในแต่ละครั้งว่าต้องการไก่กี่ตัว หมูกี่ตัว สมาชิกก็จะจับไก่ จับหมู มารวมกัน โดยพิจารณาสัตว์ที่มีคุณภาพมีน้ำหนักตามที่กำหนด ทุกคนก็จะได้เงินตามน้ำหนักที่เอามาขาย ปีหนึ่งก็มีรายได้เหลือเก็บจากการนี้ประมาณ 150,000 บาท ต่อคนเกษตรกรดีเด่นปี 56 กล่าว
ในการบริหารกลุ่มนั้นนางกัญจนาเล่าว่าจะมีการแบ่งหน้าที่ชัดเจนใครดูแลงานอะไร ทุกวันที่ 1 ของเดือนจะประชุมกลุ่มครั้งหนึ่ง มีการระดมเงินออมไปฝากที่ธนาคาร ในวันที่ 2 ของทุกเดือน เดือนหนึ่ง ต่อคนจะมีเงินฝากธนาคารซึ่งเป็นเงินเหลือใช้จากการขายสัตว์และผลผลิตจากพืชสวน ไม่น้อยกว่า 1,000 บาทต่อคน
“การดำเนินการเช่นนี้ดีที่ว่าได้มีเพื่อนพึ่งพาซึ่งกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในกลุ่ม คนที่มีโรงสีก็จะช่วยสีข้าวให้กับเพื่อนสมาชิก คนที่ไปตลาด ก็เอาผักจากสมาชิกไปขาย จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีพ่อค้าคนกลางมากดราคาสินค้า ที่สำคัญลดรายจ่ายภายในครัวเรือน และได้อาหารที่ปลอดภัย ไว้บริโภคให้กับครอบครัวและคนรอบข้าง รวมถึงลูกค้าที่มาซื้อไปบริโภคด้วย” นางกัญจนา กล่าว.

ข่าวจาก
Dailynew

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เริ่มด้วยข่าวการทำบัญชีสำหรับเกษตรกร


ครูบัญชีอาสา ช่วยลดปัญหาความยากจน - เกษตรทั่วไทย

วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2556 เวลา 00:00 น.


กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรและประชาชนมีการทำบัญชีรับจ่ายในครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้ความสำคัญการทำบัญชี ดังความตอนหนึ่งในพระราชดำรัส เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ตอนหนึ่งว่า....
’ทำบัญชีให้เห็นว่าสมดุลไม่ขาดทุน ถ้าทุกคนสามารถที่จะทำให้พอดีไม่ขาดทุน ประเทศชาติไม่ขาดทุนแน่ และประเทศชาติขาดทุนอย่างนี้ ไม่ขาดทุน อยู่รอด ข้อสำคัญเป็นอย่างนี้ ที่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ว่าพอเพียงในการบริโภค แต่ให้พอเพียงในการมีชีวิตอยู่ บางคนก็อาจจะรวยได้ทีเดียว“
นายวิจักร อากัปกริยา อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้สร้าง “ครูบัญชี” หรือ “อาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี” ทำหน้าที่แทนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในการเป็นวิทยากร วิทยากรผู้ช่วย เพื่อสอนแนะกระตุ้นการเรียนรู้ และติดตามผลการทำบัญชีของเกษตรกร รวมถึงการสร้างเครือข่ายถ่ายทอดความรู้ทางบัญชีแก่เกษตรกรในชุมชนของตน และพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ตามที่รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้แก่กลุ่มเกษตรกร  สมาชิกสหกรณ์  สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ในการพัฒนาอาชีพ  สร้างงานสร้างรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน  อยู่ดี มีสุข  มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม  กรมตรวจบัญชีสหกรณ์  ซึ่งมีบทบาทหน้าที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมการจัดทำบัญชีให้แก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเป้าหมายตามโครงการพระราชดำริ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป  จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาภูมิปัญญาทางบัญชีสู่บัญชีต้นทุนอาชีพ เพื่อให้เกษตรกร
และบุคคลทั่วไป มีโอกาสพัฒนาขีดความสามารถความรู้ด้านบัญชีต้นทุนอาชีพ  รู้จักใช้ข้อมูลจากการบันทึกบัญชีมาวิเคราะห์วางแผนประกอบอาชีพ มีวินัยทางการเงิน มีภูมิคุ้มกันด้วยบัญชี ให้รู้ถึงรายได้ รายจ่าย หมดหนี้มีเงินออม ควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ส่วนการดำเนินงานที่ผ่านมากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้สร้างอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี (ครูบัญชีอาสา) ทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่เป็นครูบัญชีในการถ่ายทอดความรู้การจัดทำบัญชีรับ–จ่าย ในครัวเรือน บัญชีต้นทุนอาชีพสำหรับเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาครูบัญชีอาสา ได้ทุ่มเททั้งแรงใจ แรงกาย ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในการทำหน้าที่เป็นวิทยากรหลัก  วิทยากรผู้ช่วย ในการสอนแนะกระตุ้นการเรียนรู้และติดตามผลการจัดทำบัญชีของเกษตรกร ซึ่งในแต่ละปีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้มีการคัดเลือกครูบัญชีจากทั่วประเทศที่มีความรู้  ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรควบคู่กับการนำบัญชีไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จนสามารถนำข้อมูลทางบัญชีไปใช้ในการวางแผนประกอบอาชีพ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เครือข่ายในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นครูบัญชีดีเด่นในระดับต่างๆ

สำหรับปี 2556 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ยังมีนโยบายที่จะส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาให้ครูบัญชีอาสา เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) เพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน กรมฯ จึงจัดให้มีการสัมมนาครูบัญชีดีเด่นขึ้น ระหว่างวันที่ 11-14 พ.ค.
ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ครูบัญชีมีการพบปะเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน เพื่อร่วมเสนอแนวการพัฒนาและแก้ไขปัญหาอุปสรรค ในการปฏิบัติงาน เพื่อขยายผลในการพัฒนาครูบัญชีในปีต่อๆ ไป อีกทั้งการสัมมนาดังกล่าวได้มีการจัดนิทรรศการ โดยได้นำเสนอผลงานการจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพของครูบัญชีมาจัดแสดง เพื่อเป็นแนวทางให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูบัญชีด้วยกัน โดยมีอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชีและบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนา จำนวน 197 คน ซึ่งนับว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เครือข่ายในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป.
ข่าวจาก Dailynews